ประวัติ ของ โซยุซ (ท่อส่งแก๊ส)

ใน พ.ศ. 2509 แหล่งแก๊สธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเท่าที่ทราบในขณะนั้นถูกค้นพบทางทิศใต้ห่างประมาณ 30 กิโลเมตรจากเมืองโอเรนบุร์ก ระหว่างการเจาะสำรวจในแอ่งวอลกา-อูราล[3][4] นอกจากแก๊สแล้ว ยังมีแก๊สธรรมชาติเหลวและน้ำมันดิบในปริมาณที่คุ้มค่าในการลงทุน แก๊สมีส่วนผสมของฮีเลียมความเข้มข้นสูงเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้คุ้มค่าที่จะสร้างโรงงานดักจับเพื่อนำมาใช้ประโยชน์[4] ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 แหล่งแก๊สโอเรนบุร์ก ได้รับการพัฒนาโดยวิสาหกิจอุตสาหกรรมแก๊สของรัฐโซเวียต (ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นบริษัทกัซปรอม (รัสเซีย: Газпром) การผลิตและการแปรรูปในโรงงานแปรรูปโอเรนบุร์กได้ดำเนินการผลิตเต็มกำลังใน พ.ศ. 2517[5]

การก่อสร้างท่อส่งแก๊สโซยุซเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2518 ถึง 2522 โดยเป็นโครงการร่วมของประเทศในสภาเพื่อความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ (คอมิคอน)[6] ซึ่งมีเป้าหมายในการรวม "สหายประเทศสังคมนิยม" ของสหภาพโซเวียตในกติกาสัญญาวอร์ซอ และเพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับสาธารณรัฐโซเวียตทางตะวันตก (โดยเฉพาะสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน)[1][7] เพื่อแลกกับการจัดหาแก๊สธรรมชาติของสหภาพโซเวียต ห้าประเทศในคอมิคอน (สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี, สาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวัก, สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์, สาธารณรัฐประชาชนบัลแกเรีย, สาธารณรัฐประชาชนฮังการี) ได้เข้าร่วมในการก่อสร้างระยะทางหนึ่งในห้าของเส้นทางทั้งหมด คือประมาณประเทศละ 550 กิโลเมตร แต่ละแห่งรวมถึงสถานีจัดการควบคุมแรงดันภายในประเทศของตน ส่วนของเส้นทางสร้างโดยคนงานชาวเยอรมันจากประเทศเยอรมนีตะวันออกในสมัยนั้น รู้จักกันในชื่อท่อส่งแก๊สดรุจบา (รัสเซีย: Дружба, มิตรภาพ) ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศยูเครน[8] ในการนี้คณะกรรมการบริหารของรัฐในคอมิคอน ได้มอบเหรียญรางวัลเชิดชูซึ่งผลิตโดยโรงกษาปณ์เลนินกราด (Ленинградский монетный двор) ให้กับคนงานที่มีผลการปฏิบัติงาน[9]

หลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น ท่อส่งแก๊สโซยุซ ร่วมกับท่อส่งทรานส์แก๊สซึ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า ทอดไปทางทิศตะวันตกผ่านประเทศเชโกสโลวาเกีย ถูกนำมาใช้เพื่อส่งแก๊สไปยังยุโรปตะวันตกด้วย สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะสหภาพโซเวียตได้เริ่มการเจรจากับประเทศในยุโรปตะวันตก (อิตาลี, ออสเตรีย, สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) เกี่ยวกับการจัดหาแก๊สในอนาคตในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เมื่อความขัดแย้งระหว่างตะวันออกและตะวันตกกำลังเข้าสู่ระยะของการผ่อนคลายความตึงเครียด ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้เข้าร่วมในการจัดหาเงินทุนและ/หรือจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นล่วงหน้าสำหรับการก่อสร้างท่อส่งแก๊ส ข้อตกลงในเรื่องนี้ที่ใหญ่ที่สุดเป็นสัญญาท่อส่งแก๊สธรรมชาติระหว่างเยอรมัน–โซเวียต[2]

จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ. 2534 ซึ่งทำให้ยูเครนและคาซัคสถานเป็นอิสระทางการเมืองจากรัสเซีย ท่อส่งแก๊สได้ถูกแบ่งส่วนระหว่างแต่ละประเทศ โดยส่วนของรัสเซียยังคงอยู่กับผู้ดำเนินการรายเดิมคือบริษัทกัซปรอม ส่วนของยูเครนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐวิสาหกิจนัฟโตฮัซ (ยูเครน: Нафтогаз України) ส่วนบริษัทแก๊สของคาซัคสถาน คัซมูไนกัซ (คาซัค: ҚазМұнайГаз) และบริษัทย่อย คัซตรานส์กัซ (คาซัค: ҚазТрансГаз) ได้รับส่วนของท่อส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคชายแดนรัสเซีย–คาซัคสถานจากบริษัทกัซปรอม

ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสหัสวรรษ เกิดข้อพิพาทที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนเกี่ยวกับราคาและค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล ที่ยูเครนควรได้รับสำหรับการส่งมอบหรือการขนส่งแก๊สของรัสเซีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ข้อพิพาทด้านแก๊สของรัสเซีย–ยูเครนได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในฝ่ายยูเครนและ/หรือรัสเซีย ซึ่งลดหรือขัดขวางการจัดหาและขนส่งแก๊ส ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงพยายามพัฒนาเส้นทางทางเลือกใหม่เพื่อลดการพึ่งพาการขนส่งผ่านยูเครน ซึ่งคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายโดยเฉพาะกับท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีม และเซาท์สตรีม

ใน พ.ศ. 2555 ปริมาณแก๊สสำรองมากกว่าครึ่งหนึ่งในแหล่งโอเรนบุร์กถูกใช้ประโยชน์แล้ว มีการลดกำลังการผลิตลงตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990[4] อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีการค้นพบแหล่งสำรองใหม่และถูกเชื่อมต่อเข้าระบบเพื่อชดเชยปริมาณที่ลดลง ซึ่งแก๊สจะถูกส่งผ่านเส้นทางโซยุซด้วย ทำให้การดำเนินการของท่อส่งแก๊สจะไม่ถูกยุติลง[10] ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ท่อส่งจะได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยโดยการร่วมลงทุนของบริษัทก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและนักการเงินชาวเยอรมัน[11][12]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โซยุซ (ท่อส่งแก๊ส) http://collectrussia.com/DISPITEM.HTM?ITEM=23516 http://www.eegas.com/fsu.htm http://www.gazprom.com/about/production/projects/p... http://www.gazprom.com/about/subsidiaries/list-ite... http://www.bgr.bund.de/DE/Themen/Min_rohstoffe/Dow... http://www.gtai.de/GTAI/Content/DE/Trade/Fachdaten... http://www.mdr.de/lexi-tv/Ukraine110.html http://www.owc.de/2012/07/12/naftogaz-und-ferrosta... http://www.owc.de/2012/12/13/ukraine-deutsche-bank... http://www.geo.tu-freiberg.de/hydro/oberseminar/os...